Monday, December 18, 2006

โรคยอดฮิต ความดันโลหิตสูง และ เบาหวาน

ขอนำบทความจาก นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์

โรคยอดฮิต ความดันโลหิตสูง และ เบาหวาน
จากการที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงพยาบาลเกือบทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชน (อำเภอ) ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ผมแปลกใจมากที่ได้รับทราบว่าโรคลำดับต้น ๆ ที่โรงพยาบาลไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นแร้นแค้นแค่ไหนพบมาก คือ โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) และโรคเบาหวาน (diabetes mellitus) ที่ผมแปลกใจก็เพราะทั้ง 2 โรคนี้มักจะเกิดในผู้ที่มีอันจะกิน มักเป็นโรคที่พบในเมือง ไม่น่าจะใช่ในชนบท พบในประเทศที่เจริญแล้ว ในประเทศที่มีคนอ้วนมาก ๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา แต่ปรากฏว่าคนไทยที่มีฐานะยากจน ที่ไม่อ้วนก็ยังเป็นโรคนี้

ผมจึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวไทยทุก ๆ คน (ถ้าเป็นไปได้) ได้รู้จัก 2 โรคนี้ รู้จักป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคนี้ หรือถ้าเป็นแล้วรู้จักวิธีดูแลตนเอง ผ่อนหนักให้เป็นเบา ก่อนอื่นคงต้องบอกว่าโรคนี้มีส่วนที่เป็นกรรมพันธุ์ ถ้าบิดามารดาเราเป็นโรค 2 นี้ เรามีสิทธิเป็นมากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็นโรคนี้ ประเด็นที่สำคัญ คือ ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่มีอาการ บางครั้งกว่าจะรู้สึกก็เลือดออกในสมองเป็นอัมพาตไปแล้ว ฉะนั้นทุกท่านถ้ามีโอกาสควรไปวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะถ้าอายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้าความดันโลหิตของท่านสูง วิธีการรักษาง่าย ๆ มีอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ควบคุมการรับประทานอาหาร สอง การออกกำลังกาย และสาม ทานยาตามแพทย์แนะนำ ทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เมื่อเป็นแล้วไม่หายขาด จะต้องได้รับการรักษาไปตลอดชีวิต แต่ชีวิตท่านอาจจะยืนยาวเหมือนไม่เป็นโรค ถ้าท่านดูแลสุขภาพของท่าน
อาการของโรคเบาหวาน คือ ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย (ถึงแม้ไม่ดื่มน้ำ) ทานจุแต่ผอม เพราะร่างกายจะปล่อยน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ ทำให้ร่างกายต้องปล่อยน้ำ (ปัสสาวะ) ออกมาเพื่อละลายน้ำตาลในปัสสาวะด้วย ถ้ามีอาการบางอย่างดังที่กล่าว โดยเฉพาะถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นเบาหวานควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดดู
แต่ผมอยากให้ประชาชนทุกท่านวางแผนป้องกันการเกิดโรคทั้ง 2 ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารโดยมีเป้าหมายว่าขอให้ดัชนีมวลกายของแต่ละท่านอยู่ระหว่าง 18.5 - 23 ดัชนีมวลกาย หรือ body mass index, BMI คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรกำลังสอง การออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพ คือ การเดินเร็ว ๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เต้นแอโรบิก ฯลฯ ครั้งละ 30-60 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือทุกวันถ้าได้ โดยออกกำลังให้เหงื่อออก (ถ้าอยู่ข้างนอก) หอบเล็กน้อยก็พอแล้ว แต่ถ้าวัดชีพจรได้ก็ให้ชีพจรเต้น 70% ของ (220 - อายุปี ซึ่งก็คือความสามารถสูงสุดที่หัวใจจะเต้นได้) การรับประทานอาหารที่ถูกหลักแบบง่าย ๆ คือ การทานหนักไปทางพืช ผัก ถั่ว เห็ด เต้าหู้ ปลา ไก่ (ไม่กินหนัง) เป็นหลัก ไม่ทานข้าวมาก หลีกเลี่ยงกะทิ หนังสัตว์ มันสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง ของหวาน น้ำตาล น้ำหวาน
ถ้าประชาชนทั้งประเทศเพียงแต่คุม BMI ให้อยู่ต่ำกว่า 23 ประเทศไทยจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค 2 โรคนี้และโรคอื่น ๆ เป็นแสนล้านบาทต่อปี!
ทุกท่านต้องดูแลตนเองครับ อย่าปล่อยตัวเองแล้วต้องไปพึ่ง "30 บาท" "ประกันสังคม" หรือ "ราชการ" เลยครับ แพงมากและไม่ดีเท่าการไม่เป็นโรคครับ!

ด้วยความปรารถนาดี
นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์
เลขาธิการแพทยสภา

No comments: