ไก่ย่าง-หมูปิ้ง-บุหรี่ มหันตภัยของโรคหัวใจ “หมอสุชัย” เปิดสถาบันโรคหัวใจประเดิมเอกซเรย์หัวใจด้วยเครื่องทันสมัย 2 เครื่อง ในไทย ระบุผลตรวจแข็งแรงดียังทำงานได้อีกนาน พร้อมเปิดประชุมวิชาการหมอพยาบาลโรคหัวใจทั่วประเทศ ด้านหมอเชี่ยวชาญหัวใจเผยจำนวนคนไทยป่วยโรคหัวใจทวีคูณรอบสิบปี ชี้เพราะสูบบุหรี่ กินของมันและแป้ง โดยเฉพาะอาหารพื้นเมือง เช่น ไก่ย่าง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง อีกทั้งชอบใช้เครื่องทุ่นแรงเป็นเหตุ เตือนหนุ่มนักสูบระวังเป็นโรคหัวใจร้ายแรงไม่ทันตั้งตัว
ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดสถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า ของโรงพยาบาลพระรามเก้า พร้อมเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการเกี่ยวกับวิทยาการทางหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีแพทย์และพยาบาลในสาขาที่เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 350 คน มาร่วมประชุม โดย ศ.นพ.สุชัย ได้เข้าเยี่ยมชมสาธิตเครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และได้ทดลองตรวจเส้นเลือดหัวใจและปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงด้วยตนเองอีกด้วย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชี้แจงว่า เครื่องดังกล่าวช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจหลอดเลือดหัวใจได้โดยไม่ต้องสวนสายเข้าไปในร่างกายเพื่อฉีดสีตรวจเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ และมีราคาประหยัดกว่าร้อยละ 50 คือ ประมาณ 20,000 บาท แต่จะมีความแม่นยำประมาณร้อยละ 90 ขณะนี้ประเทศไทยมีเครื่องดังกล่าวอยู่ 2 เครื่อง โดยอีกเครื่องอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งให้บริการในราคาเท่ากัน ทั้งนี้ ศ.นพ.สุชัย เปิดเผยอย่างอารมณ์ดีภายหลังการตรวจว่า หัวใจของตนยังแข็งแรงดี สามารถทำงานต่อไปได้อีกนาน ส่วนปอดนั้นก็ไม่มีไข้หวัดนก
ด้าน รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันหัวใจฯ อาจารย์ประจำหน่วยหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และเลขาธิการสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ กล่าวว่า จากสถิติกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตของคนไทย ไม่นับผู้ที่ยังมีอาการเจ็บป่วย เช่น เหนื่อย แน่นหน้าอก ปฏิบัติภารกิจไม่ได้ ก็มีมารักษาตัวมากขึ้นเรื่อยทั้งในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐเป็น 2 เท่า ของทศวรรษที่แล้ว
รศ.นพ.สรณ กล่าวอีกว่า สาเหตุสำคัญที่คนไทยเป็นโรคหัวใจ คือ อัตราการสูบบุหรี่ยังไม่ลดลง อาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น และสังคมเมืองที่คนไม่ค่อยได้ออกกำลังกันเท่าไรนัก คือ ใช้เครื่องทุนแรงอยู่เสมอ เช่น ใช้ลิฟต์แทนบันได ใช้รถยนต์แทนการเดิน ซึ่งอาหารที่มีความเสี่ยงนั้น ได้แก่ อาหารมัน และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมาก เช่น หมูสะเต๊ะ ข้าวมันไก่ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง โดยจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็น สิ่งเหล่านี้เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นไขมันที่หน้าท้อง และสะสมเกาะตัวอยู่ที่ผนังหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
“การบริโภคก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เรากินกันมากขึ้น อาหารหาง่าย ร้านสะดวกซื้อเราเยอะ เราซื้อไก่ย่างหรือหมูปิ้งที่ไหนก็ได้ อันนี้ไม่ใช่โรคของตะวันตกที่นำมาให้เรา ไม่ใช่แฮมเบอร์เกอร์หรือฟาสต์ฟู้ด เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่ป่วยในโรงพยาบาลรัฐที่มีจำนวนมากขึ้น ไม่ใช่ผู้ป่วยที่บริโภคสิ่งของเหล่านั้น แต่เป็นคนที่บริโภคสิ่งของพื้นเมือง เช่น ข้าวมันไก่ ไก่ย่าง” รศ.นพ.สรณ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในคนบางกลุ่มที่มีภาวะลักษณะไขมันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน แม้จะไม่ได้บริโภคไขมันมาก แต่ไปบริโภคคาร์โบไฮเดรตมาก เช่น กินข้าวคลุกน้ำพริกบ่อย ก็ทำให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไตรกลีเซอไรด์มากเกิน และเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน
นอกจากนี้ รศ.นพ.สรณ ยังระบุว่า คนไทยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็เมื่อสายไปแล้ว และมักจะเป็นผู้ที่ไม่คิดว่าตนเองจะเป็นโรคหัวใจ ทั้งนี้ ต่อไปในภาพรวม โรคหัวใจจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การป้องกันโรค ดูแลรักษาโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพ แบบองค์รวมอย่างครบวงจรและต่อเนื่องนั้น จึงมีความจำเป็นในปัจจุบัน
“ที่เราเจอบ่อยคือ ผู้ชายอายุ 30-40 ปี ที่สูบบุหรี่ และคิดว่าโรคหัวใจเป็นโรคของคนที่อายุมากและสูบบุหรี่มาก ๆ เอาไว้อายุมากกว่านี้หน่อยค่อยหยุดสูบบุหรี่ ปัจจุบันเราพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นโรคหัวใจมากขึ้น และเป็นโรคหัวใจที่เป็นฉับพลันทันที และมักจะเป็นอันตรายค่อนข้างจะร้ายแรง โรคหัวใจในคนสูงอายุมักจะมีอาการที่เตือน เช่น อาการแน่นหน้าอกเตือน แต่ในคนวัยหนุ่มที่สูบบุหรี่มักจะไม่มีอะไรเตือน และมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต กว่าจะรู้ว่าเป็นก็ต้องมานั่งฟื้นฟูสมรรถภาพกันแล้ว เพราะเสียกล้ามเนื้อหัวใจไปส่วนหนึ่ง” รศ.นพ.สรณ กล่าว
No comments:
Post a Comment