Monday, January 15, 2007

เวลาการทำงานของร่างกาย

อวัยวะต่างๆ เค้าก็มีเวลาทำงานเป็นของเค้าเองนะ..ไปทำความเข้าใจร่างกายกัน!


รู้ไหมว่าร่างกายเราจะมีการไหลเวียนของพลังชีวิต (ลมปราณ) ผ่านอวัยวะภายในต่างๆตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องเหมาะสมก็จะช่วยให้สุขภาพดีได้ in magazine จึงนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับนาฬิกาชีวิตของ อ.สุทธิวัสส์ คำภา มาฝาก

การไหลเวียนผ่านแต่ละอวัยวะนั้นจะใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งร่างกายคนเรามีทั้งหมด 12 อวัยวะ ได้แก่ หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ และระบบความร้อนของร่างกาย กว่าจะไหลเวียนครบทุกอวัยวะก็จะใช้เวลา 1 วันเต็มพอดี โดยเริ่มจาก

01.00-03.00 น. ตับ ในช่วงเวลานี้ตับจะหลั่งสารมีราโทนิน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำให้หน้าอ่อนกว่าวัย แถมยังหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมาด้วย จึงควรพักผ่อนนอนหลับให้สนิท และไม่ควรทานอาหารเพราะจะทำให้ตับทำงานหนักและเสื่อมเร็ว ทำให้ไม่สามารถขจัดสารพิษในร่างกาย ถ้าตับมีปัญหา เส้นผม ขน และเล็บจะไม่สวย

03.00-05.00 น. ปอด ควรตื่นขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ และรับแดดตอนเช้า หากตื่นแบบนี้เป็นประจำทุกวัน ปอดจะดี ผิวก็จะดีขึ้นตาม

05.00-07.00 น. ลำไส้ใหญ่ ควรถ่ายทุกเช้าให้เป็นนิสัย ถ้าถ่ายไม่ออกให้ดื่มน้ำอุ่น 2 แก้ว หรือน้ำผึ้งผสมมะนาว และอาจบริหารโดยยืนตรง หายใจเข้า แล้วก้มลงพร้อมหายใจออก เอามือเท้าเข่าแขม่วท้องจนเหมือนว่าหน้าท้องไปติดสันหลัง ให้ทำจนกว่าจะถ่าย

คนที่ไม่ถ่ายหรือถ่ายยากในตอนเช้า ร่างกายจะดูดกากอาหารตกค้างซึ่งกำลังจะเป็นอุจจาระกลับเข้าไปใหม่ ทำให้ลำไส้ใหญ่รวนผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวไหล่ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นอนกรน

07.00-09.00 น. กระเพาะอาหาร หากกินข้าวเช้าช่วงนี้ได้ทุกวันจะช่วยให้กระเพาะแข็งแรง ถ้าปล่อยให้กระเพาะอ่อนแอ จะทำให้เป็นคนตัดสินใจช้า ขี้กังวล ขาไม่ค่อยมีแรง ปวดเข่า หน้าแก่เร็วกว่าวัย

ถ้าไม่กินข้าวเช้าอุจจาระจะถูกดูดกลับมาที่กระเพาะ ทำให้กลิ่นตัวเหม็น ถ้าถ่ายออกหมดก็จะไม่มีกลิ่นตัวเท่าไร

09.00-11.00 น. ม้าม ม้ามมีหน้าที่ควบคุมเม็ดเลือด สร้างน้ำเหลือง ควบคุมไขมัน คนที่ยังนอนหลับช่วงนี้อยู่จะทำให้ม้ามอ่อนแอ คนที่พูดมากช่วงนี้ม้ามจะชื้น อาหารและน้ำที่กินเข้าไปจะแปรสภาพเป็นไขมัน ทำให้อ้วนง่าย ดังนั้น จึงควรพูดน้อย กินน้อย และไม่นอนหลับในช่วงนี้ ม้ามจึงจะแข็งแรง

คนที่ปวดหัวบ่อย และมีอาการเจ็บชายโครงนั้นมักมาจากม้าม หากม้ามโตจะไปเบียดปอดทำให้เหนื่อยง่าย ผอมเหลือง ตาเหลือง และสร้างเม็ดเลือดขาวได้น้อย

11.00-13.00 น. ระบบหัวใจ ช่วงนี้หัวใจจะทำงานหนัก จึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด หรือเหตุที่ทำให้ต้องใช้ความคิดหนัก ควรหาทางระงับอารมณ์ให้ผ่อนคลาย

13.00-15.00 น. ลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กทำหน้าที่ดูดสารอาหารที่เป็นน้ำทุกชนิด เช่น วิตามินซี บี โปรตีน เพื่อสร้างกรดอะมิโน สร้างเซลล์สมอง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างไข่สำหรับผู้หญิง ถ้ากรดอะมิโนน้อย ไข่จะมาไม่ครบทุกเดือน ดังนั้น จึงควรงดกินอาหารทุกประเภทในช่วงเวลานี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ลำไส้ทำงานได้อย่างเต็มที่

15.00-17.00 น. กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความจำ ไทรอยด์ และระบบเพศทั้งหมด ช่วงนี้ควรทำให้เหงื่ออกด้วยการออกกำลังกายหรืออบตัว กระเพาะปัสสาวะจะได้แข็งแรง การอั้นปัสสาวะบ่อยจะทำให้ปัสสาวะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ส่งผลให้เหงื่อมีกลิ่นเหม็น

17.00-19.00 น. ไต ควรทำใจให้สดชื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เวลานี้ถ้าง่วงแสดงว่าไตเสื่อม ถ้าหลับแล้วเพ้อแสดงว่าอาการหนัก ถ้าไตซ้ายมีปัญหา จะกลายเป็นคนขี้ร้อน ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่รักสวยรักงาม แต่ถ้าไตขวามีปัญหา ความจำเสื่อมและเป็นคนขี้หนาว

ถ้าไตทำงานหนักก็จะกลายเป็นโรคไต สมองเสื่อม ปวดหลัง เป็นหวัดง่าย มีเสลดในคอ

19.00-21.00 น. เยื่อหุ้มหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจ คือ หัวใจโต หัวใจรั่ว เส้นโลหิตหัวใจตีบ ช่วงนี้จึงต้องระวังเรื่องอารมณ์ตื่นเต้น ดีใจ และการหัวเราะ ควรทำจิตใจให้สงบด้วยการสวดมนต์ ทำสมาธิ

21.00-23.00 น. ระบบความร้อนของร่างกาย ช่วงนี้อย่าตากลม เพราะลมมีพิษ ควรทำร่างกายให้อุ่น ห้ามอาบน้ำเย็น จะเจ็บป่วยได้ง่าย (ตอนเย็นควรอาบน้ำอุ่น ส่วนตอนเช้าควรอาบน้ำเย็น)

23.00-01.00 น. ถุงน้ำดี เมื่ออวัยวะใดขาดน้ำก็จะดึงจากถุงน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดีข้น อารมณ์จะฉุนเฉียว สายตาเสื่อม เหงือกบวม ปวดฟัน นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ตอนเช้าจะจาม ถุงน้ำดีจะโยงไปถึงปอด จะปวดศีรษะข้างเดียวหรือสองข้างโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำก่อนเข้านอน หรือก่อนเวลา 23.00 น.

No comments: